ข้อมูลพื้นฐานฯ
- สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน
1.1) ที่ตั้งของตำบล
เทศบาลตำบลแม่เงิน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ทั้งหมดจำนวน 101 ตารางกิโลเมตร หรือจำนวน 63,125 ไร่ แบ่งการปกครองเป็น 12 หมู่บ้าน ได้แก่
หมู่ที่ 1 บ้านสันต้นเปา หมู่ที่ 2 บ้านสบยาม
หมู่ที่ 3 บ้านป่าคา หมู่ที่ 4 บ้านแม่คำ
หมู่ที่ 5 บ้านปงของ หมู่ที่ 6 บ้านแม่เงิน
หมู่ที่ 7 บ้านไร่ หมู่ที่ 8 บ้านป่าคาใต้
หมู่ที่ 9 บ้านป่าคาเหนือ หมู่ที่ 10 บ้านปงของเหนือ
หมู่ที่ 11 บ้านธารทอง หมู่ที่ 12 บ้านแม่คำเหนือ
ตำบลแม่เงินมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ข้างเคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
ทิศใต้ ติดกับ ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลริมโขงและตำบลสถาน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
ทิศตะวันตก ติดกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีน้ำโขงเป็นเส้นกั้นอาณาเขต และติดต่อกับตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ประมาณ 25 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดเชียงราย ประมาณ 73 กิโลเมตร
1.2) ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของตำบลแม่เงิน มีสภาพทางกายภาพส่วนใหญ่เป็นภูเขา บริเวณทิศเหนือและทิศใต้ของตำบลเป็นพื้นที่ป่าไม้ไม่สมบูรณ์ พื้นที่ป่าไม้ประมาณ 34,129 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่ทั้งหมด มีลำน้ำที่เกิดจากเทือกเขาทั้ง 2 แห่งซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของตำบล ได้แก่ น้ำยาบ ถือเป็นแหล่งน้ำสายหลักของตำบลไหลผ่านบริเวณที่ราบลุ่มตอนกลาง เป็นลำน้ำที่เกิดจากลำห้วยหลายสายไหลมารวมกัน คือ ห้วยน้ำทราย เกิดจากเทือกเขาทางตอนเหนือของตำบล ห้วยแม่เงินมีต้นกำเนิดจากดอยสันปันม่อนทางตอนเหนือของตำบล ห้วยขุนน้ำตกเกิดจากเทือกเขาสูงบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตำบล ห้วยเหล่านี้ไหลผ่านชุมชนบ้านไร่ บ้านแม่คำ บ้านธารทอง บ้านป่าคา บ้านแม่เงินและบ้านปงของ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขงซึ่งเป็นเส้นแบ่งดินแดนประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินในตำบลแม่เงิน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้เกือบทั้งตำบล สำหรับพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันตกของตำบล ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบมีการใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เกษตรกรรมในลักษณะของนาข้าว
1.3) ลักษณะภูมิอากาศ
ข้อมูลลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดเชียงราย เป็นสถิติภูมิอากาศที่มีค่าเป็นที่สุดใช้ข้อมูล ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 – 2562 โดย ศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา (มกราคม 2563)
ลักษณะอากาศของตำบลแม่เงิน อ้างอิงจากลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดเชียงราย ที่ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของมรสุมที่พัดประจำฤดูกาล 2 ชนิด คือ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดพามวลอากาศเย็นและแห้งจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว ทำให้จังหวัดเชียงรายมีอากาศหนาวเย็นและแห้งทั่วไป และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งจะพัดพามวลอากาศชื้นจากทะเลและมหาสมุทรอินเดียปกคลุมประเทศไทยในช่วงฤดูฝน ทำให้จังหวัดเชียงรายมีฝนตกทั่วไป
ฤดูกาล พิจารณาตามลักษณะลมฟ้าอากาศของประเทศไทย แบงออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้
ฤดูร้อน เริ่มประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคมมีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไปโดยเฉพาะในเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมากที่สุดในรอบปี
ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระยะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย อากาศจะเริ่มชุ่มชื่นและมีฝนตกชุก ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปเดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนสิงหาคม
ฤดูหนาว เริ่มประมาณ กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นช่วงที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดปกคลุมประเทศไทย อากาศโดยทั่วไปจะหนาวเย็นและแหง เดือนที่มีอากาศหนาวที่สุด คือเดือนมกราคม
อุณหภูมิ เนื่องจากจังหวัดเชียงรายตั้งอยู่ทางภาคเหนือสุดของประเทศไทย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้และมีภูเขาล้อมรอบ จึงทำให้มีอากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 24.4 องศาเซลเซียส
ในฤดูร้อนมีอากาศร้อน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.1 องศาเซลเซียส โดยในเดือนเมษายนมีอากาศร้อนที่สุด อุณหภูมิสูงที่สุดที่เคยตรวจวัดได้ 42.0 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562
สวนในฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 19.3 องศาเซลเซียส โดยมีอากาศหนาวที่สุดอยู่ในเดือนมกราคม อุณหภูมิต่ำที่สุดวัดได้ 1.0 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2542
ฝน พิจารณาจากปริมาณฝนของสถานีฝนอำเภอในจังหวัด พบว่าพื้นที่บริเวณดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวงมีปริมาณฝนสูงสุดโดยมีปริมาณฝนรวมรายปี อำเภอเชียงแสน มีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,600 – 1,800 มิลลิเมตร
1.4) ลักษณะของดิน
ข้อมูลลักษณะธรณีวิทยาของตำบลแม่เงิน โดย กรมทรัพยากรธรณีวิทยา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (มีนาคม 2556) แสดงข้อมูลดังนี้
ประกอบด้วยชั้นหินตะกอนผสมหินภูเขาไฟในยุคเพอร์โม – ไทรแอสสิก (PTrv) เป็นหินภูเขาไฟชนิดไรโอไลต์ แอนดีไซต์และหินกรวดเหลี่ยมภูเขาไฟพบทางด้านทิศใต้ของพื้นที่ ส่วนมุมทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือพบหินภูเขาไฟในยุคจูแรสสิก (Jv) ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟชนิดที่มีส่วนประกอบเป็นไรโอไลต์ แอนดีไซต์ และบะซอลต์ที่มีรูพรุนมาก นอกจากนั้นยังพบหินดินดานและหินทรายเนื้อเฟลด์สปาร์ส่วนพื้นที่ตอนกลางของตำบลเป็นหินอัคนีในยุคไทรแอสสิก (TrGr1) ซึ่งเป็นหินอัคนีชนิดไบโอไทต์แกรนิต เนื้อเป็นดอกขนาดใหญ่และพื้นที่ด้านตะวันตกซึ่งติดกับลำน้ำโขงและประเทศลาวส่วนใหญ่เป็นหินตะกอนยังไม่แข็งตัวยุค ควอเทอร์นารีที่เป็นตะกอนตะพักน้ำ (Qt) ประกอบด้วยกรวด ทราย ทรายแป้ง และแม่รัง และตะกอนน้ำพา (Qa) ประกอบด้วยทรายปนดินเหนียว และดินเหนียวปนทราย นอกจากนั้นยังมีลูกรังและกรวดปนบ้าง
สถานการณ์พิบัติภัยดินถล่ม ตำบลแม่เงิน เคยมีประวัติดินถล่ม น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในอดีต หมู่บ้านที่เคยได้รับผลกระทบ ได้แก่
- หมู่ที่ 1 บ้านสันต้นเปา เคยมีน้ำท่วมถนนที่ล้นมาจากลำห้วย ระดับน้ำสูงประมาณ 50 เซนติเมตร
- หมู่ที่ 6 บ้านแม่เงิน เคยมีดินถลมในปี 2534 บริเวณเชิงเขาซึ่งอยู่ห่างไกลจากที่ตั้งของชุมชน
พื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม พบว่า ตำบลแม่เงิน มีหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ได้แก่
หมู่ที่ 1 บ้านสันต้นเปา หมู่ที่ 3 บ้านป่าคา
หมู่ที่ 4 บ้านแม่คำ หมู่ที่ 6 บ้านแม่เงิน
หมู่ที่ 7 บ้านไร่ หมู่ที่ 8 บ้านป่าคาใต้
หมู่ที่ 9 บ้านป่าคาเหนือ หมู่ที่ 11 บ้านธารทอง
หมู่ที่ 12 บ้านแม่คำเหนือ
เนื่องจากบ้านเรือนของหมู่บ้านดังกล่าวตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขา หากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันอาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม พบว่า มีโอกาสเกิดในบริเวณที่เป็นพื้นที่เขาสูง ซึ่งห่างไกลจากที่ตั้งชุมชนของหมู่บ้าน
- ด้านการเมือง/การปกครอง
2.1) เขตการปกครองของเทศบาลตำบลแม่เงิน ประกอบไปด้วย 12 หมู่บ้าน
2.2) การเลือกตั้ง ตำบลแม่เงินเป็นเขตเลือกตั้งที่ 2 ของอำเภอเชียงแสน มีจำนวน 13 หน่วยเลือกตั้ง